วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

“ภูเก็ต” หรือ “ภูเก็จ” ? รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม

ภูเก็ต เมืองไข่มุกอันดามัน สวรรค์แดนใต้แห่งนี้ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของเมืองไทย ที่มีชื่อเสียงกระจายไปทั่วโลก (เชื่อมั้ยว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติบางคนรู้จัก Phuket แต่ไม่รู้จัก Thailand) นอกจากจะมีความงามในเรื่องทัศนียภาพ วิวทิวทัศน์ ชายหาดสวยๆ หาดทรายขาวๆ น้ำทะเลใสๆ ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่ดูเหมือนว่านักท่องเที่ยว หรือใครต่อใครอีกหลายคนที่ชอบเที่ยวภูเก็ตจะยังไม่รู้ หรือให้ความสนใจแต่อย่างใด

ใครรู้บ้างว่า แท้จริงแล้ว เมืองไข่มุกอันดามัน สวรรค์แดนใต้แห่งนี้ มีชื่อเรียกว่าอะไร สะกดอย่างไรกันแน่ หลายคนบอกว่า “ภูเก็ต” ไง เห็นๆ กันอยู่ ใครๆ ก็ใช้คำนี้กัน แต่ยังมีนักวิชาการท้องถิ่นให้ความเห็นว่า มันต้องเป็นคำว่า “ภูเก็จ” ซึ่งมี จ.จาน เป็นตัวสะกดสิ ถึงจะถูกต้องตามรากเหง้าของความเป็นไทย

คำว่า “ภูเก็ต” ที่พวกเราใช้กันจนชินตานั้น เชื่อกันว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “บูกิ๊ต” หรือ “บูเก๊ะ” ในภาษามลายู ซึ่งแปลว่าภูเขา เพราะในสมัยก่อนยังนิยมใช้เรือในการเดินทาง เมื่อมองจากทะเลเข้ามา ก็จะเห็นเหมือนมีภูเขาโผล่ขึ้นมากลางน้ำ เป็นไงล่ะ รู้สึกเหมือนว่าเคยเป็นเมืองขึ้นของมลายูหรือปล่าว ไม่นะ ไม่จิ๊งงงง… ไม่จริง ช้านไม่เคยเสียเอกราชให้เค้า

ส่วนคำว่า “ภูเก็จ” จ.จาน สะกดน่ะ เป็นคำไทยแท้ๆ แต่โบราณนะเจ้า เกิดจากการรวมคำระหว่างคำว่า ภู ที่แปลว่า ภูเขาหรือแผ่นดิน กับคำว่า เก็จ ที่แปลว่า แก้วหรืออัญมณี เมื่อเอาทั้งสองคำมารวมกัน ก็แปลได้ง่ายๆ แต่ยังแฝงไว้ 2 ความหมายอีก คือ เมืองแก้ว เมืองที่มีค่า และอีกความหมายคือ แผ่นดินที่มีเพชร ซึ่งแต่ก่อนก็ดันมีเพชรอยู่จริงซะด้วย โดยในประเทศไทยมีเพชรอยู่ 2 จังหวัด คือภูเก็ต และพังงา (อยากจะบอกว่าเป็นจริงที่สุด ตอนนี้ที่ดินในจังหวัดภูเก็ตแพงมั่กมาก แพงเวอร์อ่ะ)

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอื่นๆ ที่สามารถนั่งนอนและยืนยันได้ว่า มีการใช้ชื่อ “ภูเก็จ” มาตลอด นั่นก็คือ
  • จดหมายเหตุเมืองถลาง ฉบับที่ 1 ปีพ.ศ.2328 ของท่านผู้หญิงจันหรือท้าวเทพกระษัตรี ที่เขียนไปถึงกัปตันฟรานซิส ไลท์ (Sir Francis Light) หรือ พระยาราชกะปิตัน กล่าวถึงเรื่องคุณเทียน ประทีป ณ ถลาง (บุตรท้าวเทพกระษัตรี) ได้รับพระราชทานตำแหน่ง พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง อันแปลว่า ผู้ครองเมืองภูเขาแก้ว
  • พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระยศพระบรมโอรสาธิราช กราบบังคมทูลรายงานกิจการเหมืองแร่ในมณฑลภูเก็จ ครั้งเสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128
  • หนังสือราชการเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเขียนถึงพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ
  • ตราประทับของกระทรวงมหาดไทยประจำมณฑลภูเก็จ (มีจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ กะทู้)
  • เครื่องบินประจำมณฑลภูเก็จ และภาพแผนที่ระวาง เขียนโดยกรมแผนที่ทหาร
สาเหตุที่ “ภูเก็ต” ต.เต่าเริ่มเข้ามาแทนที่ “ภูเก็จ” จ.จานนั้น น่าจะเป็นเพราะ เมื่อปลายรัชสมัยของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จนถึงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) สยามประเทศของเราเริ่มโกอินเตอร์ ติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมากขึ้น เริ่มใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น ก็แปลจาก ภูเก็จ เป็น Phuket แต่พอเวลาแปลกลับมาเป็นไทย ตัวอักษร t ก็กลายเป็นตัว ต. เต่า เลยเป็น ภูเก็ต ต.เต่า หลังตุง

เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นคำว่า “ภูเก็จ” ถูกนำไปใช้ตามหนังสือ นิตยสาร ลายเสื้อ ร้านค้า หรือชื่อกลุ่ม องค์กร และสมาคมต่างๆ ฯลฯ ก็ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องแปลกใจอีกต่อไปแล้ว ให้รู้ไว้เลยว่า นั่นแหละ คนโบราณ ฮะฮ่ะฮ่า ไม่ใช่หรอก เค้าต้องการสร้างเอกลักษณ์ และอนุรักษ์ชื่อจังหวัด “ภูเก็จ” เอาไว้ดังเดิมต่างหากล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น